ในอดีตสินค้าแบรนด์จีนแทบจะไม่ได้อยู่ในสายตาของผู้บริโภคชาวจีน ถึงขนาดที่ว่าไม่ไว้ใจสินค้าที่ผลิตขึ้นในประเทศตัวเอง ขาดความเชื่อมั่นในเรื่องของคุณภาพและความปลอดภัย ทั้งยังขึ้นชื่อในเรื่องสินค้าเลียนแบบ แต่ด้วยเทคโนโลยีและความก้าวหน้าทำให้สินค้าจีนพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วและมีทิศทางที่ดีขึ้น จนทำให้ประชาชนรู้สึกภูมิใจในความเป็นจีนและสินค้าชาติตัวเอง ชาวจีนทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ก็เริ่มหันกลับมาอุดหนุนสินค้าแบรนด์ท้องถิ่นมากขึ้นด้วย โดยเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “China Chic”

“China Chic” หรือในภาษาจีนเรียกว่า “国潮” (อ่านว่า กั๋วฉาว) หมายถึง กระแสความนิยมในแบรนด์จีนหรือสินค้าที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ประเพณีวัฒนธรรมจีน หรือจะกล่าวว่าเป็นกระแสชาตินิยมจีนก็คงไม่ผิดนัก

  จุดเริ่มต้นที่ปลุกกระแส China Chic ขึ้นมานั้น เริ่มจากแบรนด์ Li-Ning (李宁) ซึ่งเป็นแบรนด์กีฬาที่ก่อตั้งโดย ‘หลี่หนิง’ หรือที่ชาวจีนรู้จักกันในฐานะเจ้าชายแห่งยิมนาสติก ได้เข้าร่วมงาน New York Fashion Week 2018 เป็นครั้งแรก และได้สร้าง collection ที่ผสมผสานความทันสมัยเข้ากับอัตลักษณ์ความเป็นจีนได้อย่างลงตัว โดยใช้โลโก้ใหม่สีแดงและสีขาวที่เขียนคำว่า ‘China Li Ning’ เป็นภาษาจีน จนสร้างความประทับใจให้แก่คนในประเทศและยังดึงดูดความสนใจจากต่างประเทศอย่างมากด้วย

นอกจากนี้แล้ว ความสำเร็จของแบรนด์เจ้าใหญ่เหล่านี้ เช่น Xiaomi , Huawei , Lenovo , Maotai เป็นต้น ที่พยายามยกระดับคุณสินค้าของตนเองให้มีคุณภาพและทันสมัย รวมไปถึง โรคระบาดโควิด-19 ที่ทำให้ผู้คนไม่สามารถออกนอกประเทศได้ สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลให้ก่อตัวขึ้นเป็นกระแส China Chic ที่ทำให้ชาวจีนภาคภูมิใจและหันมาบริโภคสินค้าท้องถิ่นในชาติตัวเองมากขึ้น

จะเห็นได้ว่านอกจาก แบรนด์ Li-Ning แล้ว กระแส China Chic ยังทำให้เกิดสินค้าแบรนด์จีนอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น Feiyue (飞跃) แบรนด์รองเท้าผ้าใบที่ได้ไอเดียมาจากรองเท้ากังฟูวัดเส้าหลิน แบรนด์ Luzhou Laojiao (泸州老窖) ผู้ผลิตสุราเก่าแก่ที่สุดของจีนร่วมกับบริษัทเครื่องสำอางอย่าง Maxam เปิดตัวลิปบาล์มกลิ่น White Rabbit ซึ่งเป็นลูกอมเคี้ยวหนึบรสนมที่ทำให้นึกถึงความทรงจำในวัยเด็ก แบรนด์ Florasis (花西子) เป็นแบรนด์เครื่องสำอางชื่อดัง ได้เปิดตัวลิปสติกที่ผสมผสานความเป็นพื้นเมืองและวัฒนธรรมจีน และแบรนด์ Shi Er Yuan Zi (十二院子) เปิดตัวลิปสติกที่สลักด้วยบทกลอนของหลี่ป๋าย กวีชื่อดังในสมัยราชวงศ์ถัง เป็นต้น

กระแส China Chic จึงทำให้ทิศทางการบริโภคของคนจีนเปลี่ยนไป โดย Alibaba ได้จัดหมวดหมู่เฉพาะแบรนด์จีนเท่านั้นขึ้นมาเป็นครั้งแรกในเทศกาล 6.18 อีกทั้งในหมวดผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับกีฬา พบว่ารองเท้าจากแบรนด์ Anta Sports และ Li-Ning ซึ่งเป็นแบรนด์จีนได้อยู่ในสิบอันดับแรกด้วยเช่นกัน หรือแม้แต่ Tmallและ JD.com ก็เริ่มวางกลยุทธ์ที่เกี่ยวกับ กระแส China Chic โดยเฉพาะ และปัจจุบันก็มีมากกว่าหนึ่งพันแบรนด์ ที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลจีนให้ใช้ตรา “Time-honored Brands” เพื่อรองรับความเป็นแบรนด์ที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมจีน นับได้ว่าเป็นการสนับสนุนแบรนด์ท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี

กล่าวโดยสรุปแล้ว กระแส China Chic นี้ได้แทรกซึมไปยังสินค้าทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือเครื่องดื่ม สมาร์ตโฟน ของใช้ต่าง ๆ  เครื่องสำอาง และ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เป็นต้น นับได้ว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้เเบรนด์ท้องถิ่นในจีนได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นรวมทั้งผลักดันให้คนจีนภูมิใจและหันมาบริโภคสินค้าในประเทศมากขึ้นด้วย

หากท่านที่ต้องการทำการตลาดในประเทศจีน จึงจำเป็นต้องเข้าใจและติดตามสถานการณ์เพื่อเป็นโอกาสทางธุรกิจให้แก่ตัวเอง Millideas.net เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดในประเทศจีน สามารถให้คำปรึกษาและแนะนำแก่ทุกท่านได้

Message us